หน้า 1 จากทั้งหมด 1

สารพาโคลบิวทราโซล

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 27 เม.ย. 2014 7:14 pm
โดย อ.บอล
สารพาโคลบิวทราโซล เป็นสารในกลุ่มของสารชะลอการเจริญเติบโตของพืช ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ในขณะนี้มี 2 ชนิด คือ คัลทาร์ ซึ่งอยู่ในรูปของเหลวมีความเข้มข้นของเนื้อสาร 10 เปอร์เซ็นต์ และอีกชนิดหนึ่งคือ พรีดิคท์ มีอยู่ 2 รูป คือ ในรูปของเหลว ซึ่งมีความเข้มข้นของเนื้อสาร 25 เปอร์เซ็นต์ กับชนิดผงซึ่งมีความสูงในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลินในต้นมะม่วง เป็นฮอร์โมนที่มะม่วงสร้างขึ้นมาได้เองและมีผลต่อการยืดตัวของเซลล์ทำให้กิ่งก้านยืดยาวออก และที่สำคัญคือเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่ง ก้านและใบ แต่จะยับยั้งการออกดอก ดังนั้นในสภาพใดก็ตามที่ทำให้ฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลินในต้นมากเกินไป ในสภาพที่ดินมีลักษณะชื้นหรือมีน้ำมาก หรือมีปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป และในลักษณะตรงกันข้าม หากสภาพดินเป็นดินที่แห้ง มีไนโตรเจนน้อยหรือได้รับอากาศหนาวเป็นระยะเวลานานพอสมควร ก็จะมีผลทำให้ฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลินมีน้อยลง ซึ่งผลที่จะตามมาก็คือการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งและใบหยุดชะงักลงและมีการสร้างตาดอกขึ้นมาแทน จากหลักการนี้เองจึงได้มีผู้นำมาใช้ควบคุมการออกดอกของมะม่วง โดยหาทางลดปริมาณฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลินลงเพื่อให้มีโอกาสสร้างตาดอกได้มากขึ้น และสารพาโคลบิวทราโซลก็จัดได้ว่าเป็นสารหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลินได้ดี

ข้อควรคำนึงถึงในการใช้สารพาโคลบิวทราโซล การใช้สารชนิดใดก็ตามควรที่จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับสารนั้นให้ถ่องแท้เสียก่อน ทั้งวิธีการใช้ อัตราที่ใช้ ผลกระทบจากการใช้สาร เป็นต้น สารพาโคลบิวทราโซลก็เช่นเดียวกัน เกษตรกรหรือชาวสวนที่จะใช้สารนี้ให้ได้ผลดีนั้นควรที่จะได้มีการคำนึงถึงสิ่งต่าง ดังต่อไปนี้คือ
1. พันธุ์มะม่วง มะม่วงบางพันธุ์ที่มีการออกดอกค่อนข้างยากหรือเป็นมะม่วงพันธุ์หนัก การใช้สารก็ย่อมที่จะใช้ในอัตราความเข้มข้นสูงกว่ามะม่วงพันธุ์เบาหรือมะม่วงที่ออกดอกได้ง่าย ในขณะที่มีขนาดของทรงพุ่มเท่าๆ กัน
2. ขนาดของทรงพุ่ม ต้นมะม่วงที่มีอายุมากหรือมีขนาดของทรงพุ่มใหญ่กว่าจะต้องใช้สารที่มีปริมาณมากกว่าต้นที่เล็กกว่า และถ้าต้นมะม่วงยังมีทรงพุ่มที่เล็กเกินไปหรืออายุน้อย ก็ยังไม่ควรใช้สารกระตุ้น ต้องรอไปจนกว่ามะม่วงจะพร้อมต่อการออกดอก
3. ต้นมะม่วงที่ราดด้วยสารพาโคลบิวทราโซล จะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์ มีระบบรากดี ถ้าต้นมะม่วงยังไม่สมบูรณ์หรือระบบรากไม่ดี ต้องบำรุงรักษาต้นและระบบรากให้สมบูรณ์เสียก่อน ก่อนที่จะกระตุ้นด้วยสารนี้
4. กรณีที่ราดสารพาโคลบิวทราโซลให้กับต้นมะม่วงในขณะที่มีแต่ใบแก่ มะม่วงอาจจะแตกใบอ่อนขึ้นมาก่อนที่สารจะแสดงปฏิกิริยา ซึ่งผลดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดจากสารพาโคลบิวทราโซล
5. ก่อนที่จะทำการราดสาร ควรปรับดินบริเวณโคนต้น รอบทรงพุ่ม รวมทั้งกำจัดเศษใบไม้ เศษหญ้าและวัชพืชออกให้หมด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจจะดูดเอาสารพาโคลบิวทราโซลเข้าไป ทำให้ต้นมะม่วงได้รับสารนี้น้อยเกินไป
6. ต้นมะม่วงที่ทำการราดสารพาโคลบิวทราโซล ควรมีรูปทรงที่โปร่ง แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยทำให้ช่อดอกของมะม่วงเจริญได้ดี
7. สวนมะม่วงที่ใช้สารพาโคลบิวทราโซล จะต้องมีระบบการชลประทานอย่างดี และสามารถเปิดใช้ได้ทุกเวลาตามความต้องการ ส่วนในสวนมะม่วงที่มีปัญหาในเรื่องระบบชลประทานนั้น ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ก่อนที่จะใช้สารนี้
จากคุณ เฉาก๊วยโบราณ แห่งเวปรักบ้านเกิด