ปุ๋ยเคมี เป็นปัจจัยในการผลิตพืชที่สำคัญ เพราะเป็นตัวที่ให้ธาตุอาหารกับพืชทำให้พืชเจริญเติบโตออกดอกออกผลให้ผลิต
ซึ่งปุ๋ยเคมีได้มีการถูกนำมาใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่วายที่มักจะมีเรื่องเข้าใจผิดๆ ของปุ๋ยเคมีที่มักโดนใส่เหล่าบรรดาขาปั่นใส่ร้ายว่าปุ๋ยเคมีมีอันตราย บลาๆๆ
โพสนี้ จะมาอธิบาย
“ รวมเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี “
1.ปุ๋ยเคมีคือธาตุอาหารไม่ใช่สารพิษ
ข้อแรกที่ต้องอธิบายให้บรรดาเกษตรกรหน้าใหม่ เกษตรกรโซเชียลที่กำลังหลงหัวปักหัวปำและเชื่อแบบผิดๆว่า “ ปุ๋ยเคมี คือ สารพิษ “ และคิดว่ามีอันตรายต่อผู้บริโภคเลยไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยังกลัวการใช้ปุ๋ยเคมีกันอีกด้วย ซึ่งข้อนี้ต้องอธิบายว่า ปุ๋ยเคมี คือ ธาตุอาหาร มีธาตุอาหารแบบเดียวกับที่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพทั้งหลายมีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า ปุ๋ยเคมี จะมีปริมาณธาตุอาหารที่สูงกว่าและสม่ำเสมอกว่าปุ๋ยในรูปแบบอื่นๆ และเมื่อเราใส่ปุ๋ยเคมีไปให้พืชมันก็ได้รับธาตุอาหารเหมือนกับเราใส่ปุ๋ยอินทรีย์ พืชก็ดูดนำไปใช้เหมือนกัน จึงไม่ต้องไปกลัวการกินผักที่เค้าใส่ปุ๋ยเคมีกันครับ
2.ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเป็นกรด
ปุ๋ยเคมีบางชนิดทีผลตกค้างเป็นกรดและบางชนิดเป็นด่าง มี ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจนบางชนิด (ยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต และแอมโมเนียมคลอไรด์) เมื่อใส่ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้นได้ โดยเกิดจากแอมโมเนียมจากปุ๋ยเปลี่ยนเป็นไนเทรต สำหรับแอมโมเนียมที่มาจากปุ๋ยอินทรีย์ก็ทำให้เกิดกรดและดินมีพีเอช (pH) ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ หากดินมีอินทรียวัตถุสูงจะช่วยต้านทานการการลดลงของพีเอชได้ และการที่มีการกล่าวอ้างว่า ดินในประเทศไทยเป็นกรดเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการจับประเด็นเรื่องปุ๋ยไนโตรเจนทำให้เกิดกรดมาขยายจนเกินจริง ทั้ง ๆ ที่การใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทยต่อพื้นที่ยังน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศ เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแอมเนียม ส่วนหนึ่งจะถูกพืชดูดไปใช้ได้ทันที มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนเป็นไนเทรตและทำให้เกิดกรด ดินส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นกรดเพระเกิดในสภาพฝนตกชุกมีการชะล้างสูงทำให้เหลือแคตไอออนที่เป็นกรดมาก ดินจึงเป็นกรด
3.ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมและลดจุลินทรีย์ในดิน
ดินในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้ซากพืชสลายตัวได้ดีจึงมีอินทรียวัตถุในดินต่ำ การไม่ได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวจึงทำให้ดินขาดอินทรียวัตถุซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจุลินทรีย์ดิน การที่ดินมีอินทรียวัตถุต่ำจึงส่งผลให้มีจุลินทรีย์ในดินน้อยลง โดยทั้งอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์มีความสำคัญต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินและการส่งเสริมให้ดินมีสภาพรุ่นซุย ไม่แน่นทึบ การที่ดินเสื่อมและจุลินทรีย์ลดลงไม่ได้เกิดจากปุ๋ยเคมี แต่เกิดจากการที่ดินมีอินทรียวัตถุต่ำหรือไม่ไส่ปุ๋ยอินทรีย์ แม้จะมีคนบางกลุ่มแย้งว่าใส่ปุ๋ยเคมีทำให้เร่งการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เลยส่งผลให้ดินเสื่อม แต่ปกติแล้วเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีทำให้พืชเจริญเติบโตดีมีเศษซากพืชเพิ่มขึ้นและทำให้อินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
4.ปุ๋ยเคมีทำให้พืชสะสมไนเทรตและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
การใส่ปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง ๆ ทำให้พืชดูดไนเทรตเข้าไปมาก เมื่อเข้าสู่พืชก็จะเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียม และนำไปสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญ แต่ถ้าพืชดูดไนเทรตเข้าไปมากโดยเฉพาะพืชผักที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเพื่อให้ใบเขียว อวบน้ำและกรอบ อาจทำให้ไนเทรตสะสมในผักมาก เมื่อกินผักทำให้มีไนเทรตเข้าสู่ร่างกาย และถ้าร่างกายมีไนเทรตสะสมมาก ในทางการแพทย์รายงานว่า จะส่งผลให้ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เปลี่ยนเป็น เมทีโมโกลบิน (methaemoglobin) ส่งผลให้ทารกอายุน้อยกว่า 4 เดือน เป็นโรคเมทีโมโกลบินีเมีย (methaemoglobineamia) ซึ่งมีอาการตัวสีน้ำเงิน (blue baby) เพราะเมทีโมโกลบินรับออกซิเจนไม่ได้ ส่วนในผู้ใหญ่จะไม่มีปัญหาโรคนี้เพราะมีกลไกทำให้เมทีโมโกลบินเปลี่ยนกลับเป็นฮีโมโกลบินให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ นอกจากนั้น ในผู้ใหญ่มีการเชื่อว่าไนเทรตบางส่วนในระบบทางเดินอาหารจะเปลี่ยนแปลงเป็นสารก่อมะเร็งในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากก็ทำให้มีการสะสมไนเทรตได้เช่นกัน เพราะไนโตรเจนในปุ๋ยอินทรีย์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียมและไนเทรตพืชจึงดูดไปใช้ได้
โอกาสที่พืชจะดูดไนเทรตไปใช้จนกระทั่งสะสมในพืชและเกิดอันตรายเกิดขึ้นได้น้อย เพราะคำแนะนำการใช้ปุ๋ยไม่ได้ให้ใส่มากเกินความต้องการ และปกติแล้วไนเทรตในดินถูกชะล้างได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยพบว่า เมื่อนำผักที่มีไนเทรตสูงไปต้มทำให้สุกหรือลวก ทำให้ไนเทรตลดลงมาก มีผู้ประเมินไนเทรตที่ยอมให้เข้าสู่ร่างกายได้ สำหรับคนหนัก 60 กิโลกรัม พบว่า ต้องบริโภคผักสด (มีไนเทรต 0.5% น้ำหนักแห้ง) เป็นร้อยกิโลกรัมต่อวัน ดังนั้น โอกาสจะกินผักที่มีไนเทรตสูงแล้วเป็นอันตรายจึงเกิดได้น้อยมาก
จึงมีคำแนะนำว่า ก่อนแนะนำว่าการใช้ไนเทรตในผักควร เว้นระยะการใส่ปุ๋ยก่อนเก็บอย่างน้อย 7-10 วันเพื่อลดการตกค้างของไนเตรท
5.ปุ๋ยเคมีทำให้มีการสะสมโลหะหนัก
ปุ๋ยเคมีบางชนิด เช่น ปุ๋ยฟอสเฟตซึ่งผลิตจากหินฟอสเฟต อาจมีโลหะหนักปนเปื้อนมากับแหล่งหินฟอสเฟต แต่ปกติแล้วในการขึ้นทะเบียนปุ๋ย นอกจากจะรับประกันธาตุอาหารหลักแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบการเจือปนของโลหะหนักก่อนที่จะอนุญาตให้นำปุ๋ยเข้ามาจำหน่าย และเคยมีการศึกษาการสะสมโลหะหนักในดินจากแปลงทดลองปุ๋ยในระยะยาวในประเทศไทย พบว่า ในแปลงปุ๋ยเคมีมีการสะสมโลหะหนักน้อย
6.ปุ๋ยเคมีแพง
การใช้ปุ๋ยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มธาตุอาหารพืช การเทียบราคาปุ๋ยจากน้ำหนักทั้งหมดของปุ๋ยจึงไม่สามารถบอกได้ว่าปุ๋ยชนิดนั้นถูกหรือแพง จะต้องเทียบจากราคาต่อน้ำหนักธาตุอาหารที่เท่ากัน เพราะถ้าคิดจากแค่ราคาจะทำให้เข้าใจเสมือนว่าปุ๋ยเคมีแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ต้องการจากปุ๋ยคือธาตุอาหาร เพราะปุ๋ยเคมีมีธาตุอาหารปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยอินทรีย์เสมอ สำหรับในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ให้ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุตามธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การปลูกปอเทืองบำรุงดินและหลีกเลี่ยงการนำเศษซากพืชออกไปจากพื้นที่ รวมทั้งต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปริมาณมากเพื่อคืนธาตุอาหารให้กับดินไม่น้อยกว่าที่ติดไปกับผลผลิต ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กก็คงสามารถหาแหล่งวัสดุอินทรีย์ได้ไม่ยาก สามารถจะหาปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น มูลค้างคาว มูลนกนางแอ่น มาใส่ให้ได้ธาตุอาหารเพียงพอ
มีการประเมินว่า หากใช้มูลสัตว์แทนปุ๋ยเคมีต้องใช้ 8-20 กิโลกรัมจึงได้เท่ากับใส่ปุ๋ยเคมี 1 กิโลกรัม ในขณะถ้าใช้ปุ๋ยหมักต้องใช้มากถึง 44-70 กิโลกรัม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยทั่วไปมักแนะนำให้ใช้ 1-2 ตันต่อไร่ ในประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 174 ล้านไร่ จะหาแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ไหนเพื่อให้ได้ปริมาณมากถึง 174-348 ล้านตัน
**** นักวิชาการดินและปุ๋ยทุกคนเห็นความสำคัญของอินทรียวัตถุ****
และเน้นย้ำเสมอว่าให้คืนเศษซากพืชสู่ดิน เช่น การไม่เผาตอซัง รวมทั้งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
***ไม่มีนักวิชาการดินและปุ๋ยคนไหนต่อต้านการใช้ปุ๋ยอินทรีย์***
โดยเฉพาะดินในประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนมีอินทรียวัตถุต่ำ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงดินให้มีสภาพร่วยซุยเหมาะสมแก่การปลูกพืช และปุ๋ยอินทรีย์ยังให้ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืชได้ครบทุกธาตุ เพียงแต่มีปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยน้อย จะใส่ให้ได้ธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยเคมีจึงต้องใส่เป็นปริมาณมาก
ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผล การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวติดต่อกันเป็นเวลา ทำให้พืชได้รับเฉพาะธาตุอาหารหลัก ส่วนธาตุอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ไม่ได้เติมลงไปย่อมจะลดลงจนไม่เพียงพอ จึงทำให้ใส่ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผล แต่ถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งสามารถเพิ่มธาตุอาหารอื่น ๆ ได้ จึงทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น เสมือนการให้ยาไม่ตรงกับโรคก็จะไม่ได้ผล
จากการชี้นำที่คลาดเคลื่อนทำให้คนเข้าใจว่าปุ๋ยเคมีใช้แล้วไม่ได้ผล เป็นอันตรายสุขภาพ ทำให้ดินเสื่อม อีกทั้งราคาแพง ทำให้คนทั่วไปกังวล และเกษตรกรก็เกิดความไม่มั่นใจ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่าปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด และเนื่องจากดินส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีอินทรียวัตถุต่ำ และดินอยู่ในสภาพที่มีฝนตกชุกทำให้ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ดินจึงมีธาตุอาหารพืชต่ำหรือมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
หวังว่าโพสนี้คงจะทำให้เกษตรกรมือใหม่ เกษตรกรโซเชียล รวมไปถึงผู้บริโภคได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยเคมีได้มากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ
และอยากบอกย้ำ ย้ำ ย้ำ ย้ำ ให้เข้าใจกันอีกครั้งว่า
“ ปุ๋ยเคมีคือธาตุอาหารไม่ใช่สารพิษ “
ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.ดร. จำเป็น อ่อนทอง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร
การจัดประชุมดินและปุ๋ยแห่งชาติเมื่อ ปี พ.ศ.2558 หัวข้อ ธรรมชาติของดินและความจริงของปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน
รวมเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี เครดิตจาก เพจควายดำทำเกษตร
รวมเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี เครดิตจาก เพจควายดำทำเกษตร
รับผลิตสินค้า อาหารเสริมพืช สั่งผลิตตราตัวเองขั้นต่ำ 1 ลัง ออกแบบแบรนด์ ออกแบบฉลาก ส่งวิเคราะห์ขึ้นทะเบียน ถูกต้อง ขายสบายใจทำตลาดของตัวเอง รับประกันสินค้า มีหลากหลายเกรดให้เลือก สอบถามโทร 0897522999 0815502458 ครับ
http://www.pnpandbest.com
http://www.pnpandbest.com
ผู้ใช้งานขณะนี้
สมาชิกกำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และบุคลทั่วไป 1